วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ธนาคารข้าวของในหลวง
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบท ทรงเห็นสภาพความยากจน แม้กระทั่งชาวนาผู้ปลูกข้าวเองยังขาดแคลนข้าวที่จะบริโภคและทำพันธุ์ จึงแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมข้าวหรือเงินจากพ่อค้าคนกลาง โดยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงมาก บางครั้งก็กู้ยืมโดยการขายข้าวเขียว ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่เพียงพอสำหรับ การบริโภคและการชำระหนี้ในที่สุด ก็กลายเป็นผู้มีหนี้สินพอกพูนท่วมตัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกษตรกร พ้นจากการเป็นหนี้สิน และมีข้าวบริโภคได้ไม่ขาดแคลน ทรงพระราชดำริว่าธนาคารข้าวจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จึงทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อเป็นทุนดำเนิน กิจการธนาคารข้าว โดยพระราชทานแนวทางในการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจนดังนี้


"…..ให้มีคณะกรรมการควบคุมที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้านเป็นผู้เก็บรักษาพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าวราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคในยามจำเป็น ให้ลงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคารพร้อมดอกเบี้ยเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม สำหรับกรรมการควบุคมข้าวนั้นมีสิทธิในการขอยืมข้าวเท่ากับราษฎรทุกประการ ต้องอธิบายให้กรรมการและราษฎรเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงหลักการของธนาคารข้าว โดยพยามยามชี้แจงอย่างง่าย ๆ แต่ต้องให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจดีกรรมการและราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการ เมื่อยืมข้าวจากธนาคารซึ่งเป็นของส่วนรวมไปใช้ และถึงกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ ก็ต้องนำข้าวมาคืนพร้อมดอกเบี้ย นอกจากมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องชี้แจงให้กรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งฉางที่แข็งแรง ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นและจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปถึงลูกหลาน ในที่สุด ธนาคารก็จะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย….."
ธนาคารข้าวเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเชิงการให้สวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยราษฎรมีแหล่งข้าวกลางของหมู่บ้านที่สามารถกู้ยืมไปบริโภคหรือทำพันธุ์ ซึ่งเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้จากพ่อค้าคนกลาง รัฐบาลได้สนองพระบรมราโชบายขยายขอบเขตการดำเนินงานของธนาคารข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหา การขาดแคลนข้าวได้ในระดับหนึ่ง ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งยังเป็นการลดหนี้สินลงได้มาก นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของชุมชนในอันที่จะเรียนรู้และดำเนินการแก้ไขปัญหาของตน ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาในชุมชนอีกด้วย
ออนไลนเข้าถึง http://www.thainn.com/blog.php?m=viola&d=14453

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น